การเปิดร้านฮาร์ดแวร์ก่อสร้าง

[Ep.1] 8 ขั้นตอนการเปิดร้านประปาไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง

เปิดร้านวัสดุก่อสร้าง

เริ่มต้นเขียนบล็อกวันนี้ก็ขอนำเอาสิ่งที่ถนัดที่สุดตอนนี้มาเป็นบล็อกแรกในชีวิต ซึ่งก็คือ ขั้นตอนการเปิดร้านประปาไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ร้านฮาร์ดแวร์ ร้านขายอุปกรณ์ซ่อมบ้าน ร้านวัสดุ ร้านอะไหล่เครื่องมือช่าง ร้านเคหะภัณฑ์ ร้านโลหะภัณฑ์ ก็ สุดแท้แต่ใครจะเรียกอย่างไรก็ไม่ว่ากัน ต้องเริ่มอย่างไร มีขั้นตอนอย่างไร ทำอย่างไรให้ร้านเป็นรูปเป็นร่าง ก็ขอแบ่งเป็น 8 ขั้นตอนก่อน แล้วครั้งต่อๆไปจะเจาะลึกว่าในแต่ละขั้นตอนว่าต้องทำอะไรบ้าง 8 ขั้นตอนที่ว่ามีอะไรบ้าง

1. หาทำเล

เริ่มตั้งแต่เรื่องทำเลอยากให้ทำการบ้านให้หนักนิดนึง คอยดูว่าแถวนั้นมีผู้คนอาศัย หรือรถผ่านเยอะไหม มีช่างตั้งรกรากอยู่แถวนั้นบ้างหรือป่าว มีการก่อสร้างใหม่ๆไหม มีชุมชนหมู่บ้าน ตลาด และมีคู่แข่งเยอะน้อยเพียงใด มีที่จอดรถได้ยากง่ายแค่ไหน เนื่องจากสินค้าในกลุ่มฮาร์ดแวร์จะป็นเแบบใกล้ที่ไหนซื้อที่นั่น ถ้าทำเลดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง แต่ถ้าไม่ ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักดูก่อนว่ามีเปอร์เซ็นต์จะไปได้หรือไม่ สำคัญที่สุดคือหาทำเลที่คาดว่าจะขายดี

2. งบประมาณ

ในการเปิดร้านฮาร์ดแวร์ลูกค้าต้องแบ่งเงินเป็น 3 ส่วน โดยสัดส่วนการทำร้านฮาร์ดแวร์จะให้น้ำหนัก 1:3:1 ทำร้าน : ลงสินค้า : ทุนหมุนเวียน โดยประมาณ

ส่วนแรก คือ เงินทุนในส่วนของการตกแต่ง ทำร้าน ทาสี เดินน้ำไฟ ชั้นวางสินค้า ค่าเช่า ค่ามัดจำ

ส่วนที่ 2 ส่วนของสินค้า ต้องมีความรอบคอบเป็นอย่างมากเนื่องจากสินค้าของร้านฮาร์ดแวร์ก่อสร้างจะมีรายการเป็นจำนวนมาก หากบกพร่องไปก็จะทำให้งบบานปลายได้ งบประมาณจะขึ้นอยู่กับ ขนาดของร้าน เกรดของสินค้า การสต็อกสินค้า เป็นหลักในกรณีที่ร้านเป็นตึก 1 คูหา ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ประมาณ 500,000 บาท หากมีงบน้อยกว่านี้จะทำได้ไหม ก็สามารถทำได้แต่จะมีผลต่อยอดขายและการไปต่อของร้านด้วยเช่นกัน

ส่วนที่ 3 สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนต่อเนื่องเพื่อรองรับการดำเนินกิจการในช่วงแรกลูกค้ายังไม่รู้จักร้านของเรา อาจจะใช้เวลาถึง 6 เดือนในการที่จะเป็นทีรู้จักโดยจะขึ้นกับการตกแต่ง การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ร้านด้วย

3. ออกแบบร้าน

รูปแบบการจัดร้านสามารถทำได้หลายแบบ บางร้านอาจจะเป็นแบบเปิดให้ผู้ซื้อเดินเลือกของเองหรือเป็นแบบที่เราเป็นคนหยิบของให้ผู้ซื้อก็แล้วแต่ความต้องการของแต่ละร้านไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ขอให้คำนึงถึงการวางแปลนร้านให้ได้พื้นที่ใช้สอยมากที่สุดเหมาะสมกับ สินค้าในแบบต่างๆกัน สินค้าบางประเภทเป็นสินค้าที่ไม่ควรโดนแดด สินค้ามีอายุ ความชื้น สินค้าแตกหักง่าย สินค้ามีราคาแพง และควรวางเป็นหมวดหมู่ เช่น ใส่ตู้กระจก ชั้นวางท่อ ชั้นวางสินค้ามีน้ำหนัก การทำชั้นวางมีทั้งการใช้เหล็กฉากประกอบ ชั้นเหล็กกล่องหรือชั้นวางสำเร็จรูป เพราะสินค้ามีเป็นจำนวนมากถ้าจัดวางแล้วยากต่อการค้นหาก็จะพลาดโอกาสในการขายสินค้าไปด้วย ส่วนภายนอกของร้านควรทำป้ายให้เห็นเด่นชัดเนื่องจากเราเป็นร้านใหม่กว่าจะเป็นที่รู้จักก็ต้องอาศัยการติดป้ายโฆษณาร้าน ให้ลูกค้าเห็น

4. เลือกสินค้า

การเลือกสินค้าก็เริ่มจากการตั้งกรอบของสินค้าที่เราต้องการนำมาขายในร้านเบื้องต้นก่อนว่า ต้องการขายสินค้าในกลุ่มใดบ้าง เพราะร้านค้าฮาร์ดแวร์ หรือวัสดุก่อสร้างนั้น สามารถต่อยอดสินค้าได้มากมายหลายกลุ่ม อาทิ ประปา ไฟฟ้า เครื่องมือข่าง วัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง วัสดุสิ้นเปลือง สี น็อต สกรู ทินเนอร์ น้ำมันสน อิฐ หิน ปูน ทราย ไม้ เหล็ก สุขภัณฑ์ กระเบื้อง ฯลฯ เมื่อได้กรอบแล้วก็เลือกสินค้าที่นิยม ขายบ่อย ขายง่ายและขายเร็ว มาในร้านก่อนเพื่อเป็นการไม่จมทุนมาก แต่สินค้าในกลุ่มที่ต้องมาติดร้านก็ต้องมีเช่นกันเพื่อรองรับลูกค้าได้ครบวงจร

5. ตั้งราคาขาย

ข้อดีของสินค้าฮาร์ดแวร์ก่อสร้างคือเป็นกลุ่มสินค้าที่ถัวเฉลี่ยแล้วมีกำไรค่อนข้างสูง แต่ก็ขึ้นกับทำเล และกลุ่มลูกค้าด้วยโดยสินค้าในแต่ละหมวดจะมีมาตรฐานในการตั้งราคาขาย แตกต่างกันออกไปบางหมวดบวกกำไรได้มากบางหมวดบวกกำไรได้น้อย ซึ่งการตั้งราคาขายปลีกที่ผิดก็จะมีผลกระทบต่อการขายแน่นอน จะมีเทคนิคที่ดูเหมือนง่ายแต่ยากมาก คือ แนะนำให้ไปดูจากร้านคู่แข่งหรือในย่านนั้น ว่าขายกันเท่าไร ก็ตั้งราคาขายได้เลย เมื่อตั้งราคาแล้วก็ยังต้องทำการบ้านดูผลตอบรับจากลูกค้าที่มาซื้อว่ามีความพอใจต่อราคาสินค้าของเราแค่ไหน และพร้อมปรับตัวตลอดเวลา

6. การบริหารร้านและระบบการจัดการสินค้า

การทำธุรกิจทุกรูปแบบมีความเสี่ยงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีถึงจะทำให้ธุรกิจนั้นๆ สามารถไปต่อได้ การเปิดร้านฮาร์ดแวร์ก่อสร้างก็ถือเป็นการทำธุรกิจแบบหนึ่งต้องมีความเอาใจใส่ จริงจัง รอบคอบกับการปล่อยเครดิตซึ่งข้อนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การจัดการสินค้าก็ต้องมาดูเรื่องการเติมสินค้าสต๊อกสินค้าต้องหมั่นเช็คสต๊อกสินค้าว่ารายการใดใกล้หมดต้องเตรียมสั่ง ซึ่งจะมีระยะเวลาในการจัดส่ง โดยอาจจะใช้ระบบบาร์โค้ดเพื่อขายหน้าร้านและตรวจนับสต็อกไปด้วย ซึ่งจะยุ่งยากในช่วงต้นที่เปิดร้านแต่ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในภายหลัง

7. เทคนิคการขาย

เทคนิกการขายจริงๆแล้วมีหลายวิธี เริ่มจากการสังเกตุผู้ซื้อ กลุ่มของผู้ซื้อจะมีหลายแบบ เช่น ผู้รับเหมา เจ้าของบ้าน เด็กนักเรียน หากเป็นผู้ซื้อที่เป็นผู้รับเหมาเค้าจะซื้อของมีจำนวนและต่อเนื่อง อาจจะขายให้ถูกลง แต่การขายผู้ซื้อกลุ่มนี้ก็จะต้องระวังเรื่องเครดิตให้มากตามไปด้วย หรือหากผู้ซื้อเดินมาในร้านเพื่อซื้อฝักบัวอาบน้ำ 1อันเราก็ควรถามผู้ซื้อว่า มีเทปพันเกลียวหรือยัง? ช่วยเหลือแนะนำเพื่อเป็นการสร้างความเป็นกันเองกับผู้ซื้อ และต้องหมั่นหาความรู้เกี่ยวกับสินค้าตลอดเวลา เพราะผู้ซื้อมาหาของบางทีเขาเรียกไม่ถูก หรือไม่ก็หยิบตัวอย่างมาเราก็ต้องรู้ทันทีว่ามันคืออะไรใช้แทนอะไรได้บ้างต้องใช้ร่วมกับอะไร สินค้าฮาร์ดแวร์มีมากมายหลายชนิดมากใหม่ๆ ก็จะจำไม่ได้และไม่รู้ว่าใช้ทำอะไร ก็อาจจะทำให้พลาดโอกาสในการขายสินค้าได้

8. ขยายกิจการและการคืนทุน

ระยะเวลาการคืนทุน ก็จะขึ้นกับยอดขาย ขนาดร้าน และการขยายกิจการด้วย ส่วนใหญ่ร้านวัสดุก่อสร้างที่ขายได้ไปต่อได้ก็มักจะคืนทุนเป็นร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จำนวนสินค้ามากขึ้นต่อยอดโตไปเรื่อยๆ การลงทุนทำธุรกิจทุกรูปแบบมีความเสี่ยง แต่หากมีความกล้าที่จะทำ ทุ่มเท จริงใจ มีศิลธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบลูกค้า เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์มาปรับปรุงแก้ไขไปเรื่อยๆ วันนึงก็จะถึงวันของเรา

facebook-logo-png-transparent-background-1200x1200-png_130902

Leave a comment